วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บ้านหนำควาย ต้นแบบการอยู่อย่างพอเพียงต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง



ศูนย์การเรียนรู้ “เศรษฐกิจพอเพียง” บ้านหนำควาย หมู่ที่ 12 ต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และ เครือข่ายพัฒนาท้องถิ่นตรัง โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินชีวิตด้วยการเกษตรแบบธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายนักในสังคมเมืองปัจจุบัน
อาจารย์วิรัช กาญจนพรหม อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 2547 เกิดจากการที่วิทยาลัยฯ ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง แต่การใช้วิธีเผยแพร่แบบทฤษฎีเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้วิธีปฎิบัติและการสาธิตให้ชาวบ้านดูเป็นแบบอย่างด้วย อาจารย์วิรัชจึงใช้บริเวณบ้านของตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนไม่ถึงสามพันบาทเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อพันธ์พืช พันธ์ปลา อาหาร พลาสติก และ ตาข่าย
ปัจจุบันที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีทั้งการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ ปลูกพืชผักสวนครัว และผักพื้นบ้านต่างๆ ที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน เช่น บวบหวาน ฟัก ผักหวาน ผักกูด ถั่วพู ตำลึง วอเตอร์เครส (เป็นผักที่มีถิ่นกำเนิดทางยุโรป แต่สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นของเมืองไทย) ฯลฯ ซึ่งการปลูกจะเป็นการเกษตรอินทรีย์ เป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ปราศจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์อย่างสิ้นเชิง จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
เป้าหมายของโครงการไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อค้าขาย แต่เพื่อให้ชาวบ้านมีกินมีใช้อย่างเพียงพอ มีอาหารสำรอง เหลือกินเหลือใช้จึงจะนำไปขายเป็นรายได้เสริมของครอบครัว และยังเป็นการใช้พื้นที่ แรงงาน เวลา และสิ่งที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เปรียบเสมือนมีซุปเปอร์มาร์เก็ตประจำบ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีตู้เย็นไว้แช่กับข้าว แต่เมื่อนึกอยากจะรับประทานอะไรก็สามารถเก็บผักจากต้นมารับประทานได้เลย เศษอาหารที่เหลือก็สามารถนำมาให้เป็นอาหารปลาหรือเป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ เศษไม้ก็นำมาเผาเป็นถ่านไว้ใช้ได้ จะทำอย่างไรให้ 1 มื้อนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่มีรายได้เข้ามาในครอบครัว แต่ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่มีรายจ่ายเช่นกัน
การทำเศรษฐกิจแบบพอเพียงจริงๆ ไม่ยาก สามารถประยุกต์ให้เหมาะกับพื้นที่ และใช้พื้นที่ไม่มาก ชาวบ้านบางคนเมื่อมีเวลาว่างหลังจากกรีดยางแล้วก็สามารถมาดูแลแปลงพืชผักและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ได้ อย่างแรกที่อาจารย์วิรัชแนะนำคือจะต้องมีใจรัก และมีความอดทน เพราะในช่วงแรกคนอื่นอาจจะมองว่าเราเป็นคนตระหนี่หรือขี้เหนียว แต่ทั้งหมดเป็นวิถีชีวิตที่จะสามารถต่อสู้กับสภาพเศรฐกิจในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยความพอดี พออยู่ และพอใจ
โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเพื่อส่งเสริมความรู้แก่สังคม เพื่อการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีความเอื้ออาทรต่อกัน ส่งผลให้ผู้ที่น้อมนำแนวทางดังกล่าวไปปฎิบัติ มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: